มด เป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera มีจำนวนชนิดมากกว่า 12,000 ชนิด โดยพบมากในเขตร้อนของโลก มดมีการสร้างรังเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ บางรังมีจำนวนประชากรมากถึงล้านตัว มีการแบ่งวรรณะกันทำหน้าที่คือ วรรณะมดงาน เป็นมดเพศเมีย และ เป็นหมันทำหน้าที่หาอาหาร สร้างรังและซ่อมแซมรัง ปกป้องรังจากศัตรู ดูแลตัวอ่อน และงานอื่นๆ ทั่วไป เป็นวรรณะที่พบได้มากที่สุด วรรณะสืบพันธุ์ เป็นมดเพศผู้ และราชินี เพศเมีย มีหน้าที่สืบพันธุ์ เนื่องจากมดเป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae จึงสามารถผลิตกรดฟอร์มิกได้เป็นลักษะเฉพาะของสัตว์ในวงศ์นี้ มดบางชนิดสามารถกัด หรือ ต่อยด้วยเหล็กใน ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เกิดอาการแพ้ หรือ เกิดแผลติดเชื้อได้ ด้วยสาเหตุนี้ มดจึงจัดเป็นแมลงศัตรูรบกวนต่อมนุษย์ และ มีความสำคัญทางการแพทย์
ชนิดของมดที่พบ
มีมดอยู่หลายชนิดที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์และควรรู้จักได้แก่
1. มดคันไฟ (Solenopsis geminata)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ : สีเหลืองแดงมีขนที่หัวและตัว, หนวดมี 10 ปล้อง,อกแคบ, pronotum กลม, pro-mesonotal suture เห็นชัดเจน, pedicel มี 2 ปุ่ม, ท้องรูปไข่,มีลายขวางสีน้ำตาลมีเหล็กใน, ความยาว 7.8 มิลลิเมตร
ลักษณะทางชีววิทยา : ทำรังอยู่ใต้ดินที่ร่วนซุยโดยดินทรายรังหนึ่งๆมีรูทางเข้าออกเล็กๆบนพื้นดินได้หลายรูกินแมลงและซากสัตว์เล็กๆเป็นอาหาร
ความสำคัญทางการแพทย์ : ใช้เหล็กในต่อยผู้ถูกต่อยจะรู้สึกเจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวกจึงเรียกมดคันไฟหลังจากถูกต่อยจะมีอาการบวมแดงขยายกว้างขึ้นและจุดที่ถูกต่อยจะใสคล้ายถูกไฟลวกและจะมีอาการคันมากเมื่อเกาผิวหนังจะบวมแดงแผ่กว้างขึ้น
2. มดละเอียดหรือมดเหม็น (Tapinoma melanocephalum)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ : หัวและอกสีดำท้องสีน้ำตาลอ่อนปล้องหนวดมี scapeและ funicle ยาวตารวมใหญ่อยู่ด้านหน้า, pedicel มีปุ่ม 1 ปุ่มมีลักษณะแบนปล้องแรกของท้องส่วน gaster ยื่นไปคลุมบน pedicel
ลักษณะทางชีววิทยา : ทำรังบนดินร่วนบริเวณโคนต้นไม้เช่นต้นไผ่ชอบซ่อนตัวตามกาบใบที่มีความชุ่มชื้น
ความสำคัญทางการแพทย์ : เมื่อเข้ามาหาอาหารในบ้านเรือนจะขับถ่ายสารปนเปื้อนใส่อาหารทำให้มีกลิ่นเหม็นทำอันตรายคนโดยการกัดแต่จะเกิดอาการคันเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง
3. มดละเอียด (Monomorium pharaonis)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ : สีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลอ่อนหรือสีแดงสว่างใสท้อง มีสีเข้มเกือบดำหนวดมี 12 ปล้องโดย 3 ปล้องสุดท้ายใหญ่เป็นรูปกระบองตาเล็กอกยาว แคบเห็นเส้นแบ่งอกปล้องที่ 2 และปล้องที่ 3 (meso-metanotal suture) ชัดเจน pedicel มี 2 ปุ่มรูปไข่มีขนปกคลุมทั่วร่างกายลำตัวมีความยาว 1.5-2 มิลลิเมตร
ลักษณะทางชีววิทยา : เป็นมดที่ทำรังหลักหรือรังใหญ่ (mother colony) อยู่ภายนอก บ้านแต่มดงานจะเข้ามาหาอาหารภายในบ้านเรือนรังจะมีขนาดต่างๆกันตั้งแต่รังขนาดเล็ก จนถึงรังขนาดใหญ่ที่มีประชากรเป็นหมื่นเป็นแสนตัวและพบว่ามดชนิดนี้สามารถสร้างรังย่อย (daughter colony) แตกออกมาจากรังหลักกระจายอยู่ในบ้านหรือตามที่อยู่อาศัยต่างๆของ คนเช่นอพาร์ตเมนต์โรงงานโรงพยาบาลโดยรังย่อยเหล่านี้จะซ่อนอยู่ตามรอยแตกของผนัง ช่องว่างตามกำแพงกล่องสวิตช์ไฟนอกจากนี้ภายในรังเดียวกันสามารถมีมดราชินีได้มากกว่า 1 ตัวมดละเอียดเป็นมดที่ผสมพันธ์ุภายในรังและผสมพันธ์ุได้ทั้งปีหลังผสมพันธ์ุแล้วราชินี ตัวใหม่จะออกจากรังเดิมเพื่อไปสร้างรังใหม่ มดละเอียดชนิดนี้กินอาหารได้หลายชนิดโดยกินได้ทั้งน้ำตาลและโปรตีนพวกเนื้อสัตว์ เศษซากแมลงที่ตายแล้วเลือดน้ำเหลืองและสารคัดหลั่งอื่นๆจากร่างกายของคนเป็นมดที่ จัดได้ว่าทำการควบคุมได้ยากเนื่องจากเป็นมดที่มีขนาดเล็กหลบซ่อนตัวได้ง่ายหากินไกล ออกไปจากรังมีทั้งรังหลักและรังย่อยซึ่งยากต่อการค้นหาและพบว่าการใช้สารเคมีในการ ฉีดพ่นที่รังใดรังหนึ่งและทำให้ประชากรแตกกระจายบางครั้งจะทำให้มดชนิดนี้ยิ่งแตกออก เป็นรังย่อยๆหรือเรียกว่า budding ซึ่งทำให้การควบคุมทำได้ยากยิ่งขึ้น
ความสำคัญทางการแพทย์ : มีเหล็กในแต่ไม่ปรากฎให้เห็นเมื่อถูกรบกวนจะป้องกัน ตัวโดยการกัดผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บและคันเพียงเล็กน้อยปัญหาทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะเกิด ขึ้นเมื่อมดชนิดนี้เข้ามาสร้างรังย่อยอยู่ในโรงพยาบาลและมดงานออกหาอาหารภายใน โรงพยาบาลซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนหรือการแพร่กระจายของเชื้อโรคระหว่างพื้นที่ต่างๆ ในโรงพยาบาลได้
4. มดละเอียด (Monomorium indicum)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ: สีแดงสนิมปนสีน้ำตาลเข้มส่วนท้องใส, หนวดมี 12 ปล้อง, อกยาวแคบเห็น meso-metanotal ชัดเจน, pedicel มี 2 ปุ่มรูปไข่, ความยาว2.5-3.5 มิลลิเมตร
ลักษณะทางชีววิทยา: ทำรังในดินพบตามบ้านที่อยู่อาศัยชอบกินของหวานเมื่อมากินอาหารแล้วจะปล่อยสิ่งขับถ่ายทำให้อาหารมีรสชาติเปลี่ยนไปเคลื่อนไหวรวดเร็วมักเห็นเดินบนกำแพงหรือฝาห้องมากกว่าบนพื้น
ความสำคัญทางการแพทย์: เมื่อถูกรบกวนจะป้องกันตัวโดยการกัดผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บและคันเพียงเล็กน้อย
5. มดง่าม(Pheidologeton diversus)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ : สีน้ำตาลเข้ม, กรามใหญ่, หนวดมี 11 ปล้อง pronotumและ mesonotum นูน, metanotum เว้าลงมี metanotal spine, pedicel มี 2 ปุ่ม ส่วนท้องกว้างรูปไข่, ความยาว 4.5-13 มิลลิเมตร
ลักษณะทางชีววิทยา : ทำรังในดินร่วนมองผิวดินจะเห็นเป็นเพียงรูเปิดเล็กๆและมี ดินร่วนกองอยู่รอบๆของขอบรูเข้าออกชอบทำรังในที่ร่มชื้นกินแมลงและเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
ความสำคัญทางการแพทย์ : ทำอันตรายคนโดยการกัดอาการจะคล้ายคลึงกับอาการ ของคนที่ถูกมดคันไฟต่อยมาก
6. มดแดง(Oecophylla smaragdina)
ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ : สีแดงสนิมหัวและส่วนอกมีขนสั้นๆสีขาว, หนวดมี 12 ปล้อง, อกยาว, pronotum โค้ง, mesonotum คอดคล้ายอาน, metanotum กลม, ขาเรียวยาว pedicel มี 1 ปุ่ม, ท้องสั้น, ความยาว 15-18 มิลลิเมตร
ลักษณะทางชีววิทยา : ทำรังบนต้นไม้ใหญ่เช่นต้นมะม่วงชมพู่โดยใช้ใบเหล่านี้ประกอบ เป็นรังโดยตัวอ่อนจะปล่อยสารเหนียวออกมาเชื่อมใบไม้ประกบกันเมื่อพบเหยื่อจะทำร้ายเหยื่อ โดยการกัดและฉีดสารพิษออกทางปลายท้องเมื่อเหยื่อได้รับบาดเจ็บก็จะช่วยกันลากกลับรัง
ความสำคัญทางการแพทย์ : เมื่อถูกรบกวนจะทำอันตรายคนโดยการกัดผู้ถูกกัดจะ รู้สึกเจ็บปวดมากต่อมาจะเกิดอาการบวมคัน
วิธีการควบคุมมด
1.การควบคุมโดยใช้สารเคมี
- การฉีดพ่นสเปรย์ โดยผู้เชี่ยวชาญ
- เหยื่อพิษ
2.การควบคุมโดยการปรับสภาพแวดล้อม
- ไม่ให้มีแหล่งอาหารอยู่ในบ้านเรือนหรือบริเวณรอบบ้าน หมั่นสอดส่องดูแลภายในบ้านเรือนไม่ให้มีที่ที่เหมาะสมสำหรับมดมาทำรัง ไม่ควรปลูกต้นไม้ที่มีน้ำหวานไว้ใกล้บ้าน
3.การควบคุมโดยวิธีกล
- โดยการใช้มือบี้หรือทำลาย ใช้ไม้กวาดกวาดทิ้งหรือการทำลายรังโดยวิธีต่างๆ เช่น ใช้ไฟเผา ตัดรังทิ้งในกรณีที่รังอยู่บนต้นไม้ เป็นต้น
- กุญแจที่สำคัญในการควบคุมมด คือการหารังมดให้พบ โดยจะต้องทราบชนิดของมดนั้นก่อน